วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์

              ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ เป็น ความสามารถที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นที่ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ คือ การแก้ปัญหา การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่น การแสดงเหตุผล การนำเสนอและการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์

              ทักษะและกระบวนการแก้ปัญหา  เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนควรจะรู้ ฝึกฝน และการพัฒนาให้เกิดทักษะขึ้นในตัวนักเรียนปัญหาทางคณิตศาสตร์ หมายถึง สถานการณ์ที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ซึ่งเผชิญอยู่และต้องการค้นหาคำตอบโดยที่ยังไม่รู้วิธีการหรือขั้นตอนที่จะได้คำตอบของสถานการณ์นั้นในทันที
การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ หมายถึง กระบวนการในการประยุกต์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ขั้นตอน/กระบวนการแก้ปัญหา ยุทธวิธีแก้ปัญหาและประสบการณ์ที่มีอยู่ไปใช้ในการหาคำตอบของปัญหาทางคณิตศาสตร์
รูปแบบกระบวนการแก้ปัญหาตามแนวคิดของโพลยา (Polya)
               ขั้นที่ 1  ขั้นทำความเข้าใจปัญหาเป็นการคิดเกี่ยวกับปัญหาและตัดสินว่าอะไรที่ต้องการค้นหา โดยผู้เรียนต้องทำความเข้าใจปัญหาและระบุส่วนที่สำคัญของปัญหา
               ขั้นที่ 2  ขั้นวางแผนแก้ปัญหา  เป็นการค้นหาความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลและตัวไม่รู้ค่า นำความสัมพันธ์ที่ได้มาผสมผสานกับประสบการณ์ กำหนดแนวทางหรือแผนในการแก้ปัญหา
               ขั้นที่ 3  ขั้นดำเนินการตามแผน  เป็นการลงมือปฏิบัติตามแผนหรือแนวทางที่วางไว้ อาจตรวจสอบความเป็นไปได้ของแผน เพิ่มเติมรายละเอียด แล้วลงมือปฏิบัติจนได้ความสำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จต้องค้นหาและทำการแก้ปัญหาจนสามารถแก้ปัญหาได้
               ขั้นที่ 4  ขั้นตรวจสอบผล เป็นการมองย้อนกลับไปยังคำตอบที่ได้มา เริ่มจากการตรวจสอบความถูกต้อง ความสมเหตุสมผลของคำตอบและยุทธวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ มีคำตอบหรือยุทธวิธีอื่นในการแก้ปัญหานี้อีกหรือไม่
              
การพัฒนาทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์ :ทักษะ/กระบวนการแก้ปัญหา    
Polya(1957)ได้ให้นิยามของการแก้ปัญหาว่า  การแก้ปัญหาเป็นความสามารถพิเศษทางสมอง  ซึ่งเป็นพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล  ทำให้บุคคลนั้นมีความพิเศษเหนือผู้อื่น  โพลยาแบ่งปัญหาออกเป็น 2 ประเภท  ดังนี้(Polya,1985)
1.ปัญหาให้ค้นหา(Problem to Find)  เป็นปัญหาให้ค้นสิ่งที่ต้องการ  ซึ่งอาจเป็นปัญหาในเชิงทฤษฏี  หรือปัญหาในเชิงปฏิบัติ  อาจเป็นรูปธรรม  หรือนามธรรม  ส่วนสำคัญของปัญหานี้แบ่งเป็น 3 ส่วน  ได้แก่  สิ่งที่ต้องการหา  ข้อมูลที่กำหนดให้  และเงื่อนไข
2.ปัญหาให้พิสูจน์ (Problem to Prove)  เป็นปัญหาที่ให้แสดงอย่างสมเหตุสมผลว่าข้อความที่กำหนดเป็นจริง  หรือเป็นเท็จ  ส่วนสำคัญของปัญหานี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน  ได้แก่  สมมติฐาน  หรือสิ่งที่กำหนดให้  และผลสรุป  หรือสิ่งที่ต้องการพิสูจน์

แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม

   ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์


แหล่งที่มา
ประเทือง วิบูลศักดิ์. [ออนไลน์].http://www.sahavicha.com/?name=media&file=readmedia&id
            =1937.  เข้าถึง เมื่อวันที่ 27 พษภาคม พ.ศ.2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น